Sponsored


Wednesday, April 14, 2010

การเมืองร้อน หนังไทยร่วง

การเมืองร้อน หนังไทยร่วง





คมชัดลึก :นานมาแล้ว ผมเคยมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่ง และไม่นานมานี้ ความเชื่อที่ว่าก็คงอยู่ นั่นคือ ไม่ว่าสังคมไทยจะผันผวนแค่ไหน ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง จะเกิดภาวะวิกฤติ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ หรืออุตสาหกรรม มากแค่ไหน แต่สำหรับวงการหนังไทยแล้ว ดูจะยังไกลตัว หรือไม่ก็ได้รับผลกระทบน้อยมาก หนังไทยยังคงมีที่ทางพอให้เอาตัวรอดได้เสมอ บางคราวถึงขั้นเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ออกบ่อยครั้ง เราลองมาไล่เรียงเหตุการณ์ในอดีตเหล่านั้นกันดูครับ เพื่อจะพิสูจน์สมมติฐานที่ว่า ทำไมผมจึงมีความเชื่อว่า หนังไทยเอาตัวรอดได้เสมอ







  ในปี พ.ศ.2516 เป็นปีที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองครั้งใหญ่ โดยเฉพาะเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 แต่ปีนั้นปีเดียวมีหนังไทยเข้าฉายมากกว่า 70 เรื่อง แต่ที่สร้างความฮือฮาก็คือหนังเรื่อง “ทอง” ของผู้กำกับฉลอง ภักดีวิจิตร หนังแอ็กชั่นที่นอกจากลงทุนสร้างมหาศาลแล้ว ยังนำเอานักแสดงชื่อดังของฮอลลีวู้ดและฮ่องกง มาปะทะดาราไทย ทั้ง เกร็ก มอร์ริส และ ถ่ำถุยหั่ง ประชันบทบาทกับ สมบัติ เมทะนี และ กรุง ศรีวิไล ผลก็คือ หนังกวาดรายได้ไปหลายล้านบาท ความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ทำให้มีการสร้างภาคต่อตามมาอีกหลายเรื่อง ไม่เพียงเท่านั้นนะครับ ปี พ.ศ.2516 วงการหนังไทยยังมีโอกาสต้อนรับหนังคุณภาพสร้างสรรค์สังคมเรื่อง “เขาชื่อกานต์” ของ ท่านมุ้ย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล และ “ตลาดพรหมจารี” ของ สักกะ จารุจินดา
 สามปีถัดมา เกิดความวุ่นวายทางการเมืองครั้งสำคัญที่คนไทยลุกขึ้นมาฆ่าฟันกันเองระหว่างนิสิตนักศึกษาประชาชน ในเหตุการณ์ตุลามหาวิปโยค 6 ตุลาคม 2519 แม้บ้านเมืองจะบอบช้ำเสียหายทั้งเรื่องของกายภาพและสภาพจิตใจคน ทว่าตลอดทั้งปี มีหนังไทยเข้าฉายมากถึง 171 เรื่อง และส่วนใหญ่ถ้าไม่เป็นหนังบู๊ ก็เป็นหนังอีโรติก จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า เงื้อมเงาของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ยังครองอำนาจแผ่ซ่านในช่วงเวลานั้น ทำให้คนทำหนังไทยปฏิเสธที่จะทำหนังสะท้อนสังคมเพื่อเลี่ยงปัญหาเซ็นเซอร์ หันไปทำหนังเพื่อความบันเทิงล้วน
 ทว่าหนังที่ทำรายได้สูงสุดประจำปี เป็นหนังอิงประวัติศาสตร์ที่สร้างมาจากนวนิยายเรื่องดังชื่อ “ขุนศึก” แต่ที่สำคัญครับ มีหนังวัยรุ่นเรื่องหนึ่งที่สร้างปรากฏการณ์ให้แก่วงการหนังไทย หนังเรื่องนี้ปฏิเสธดาราดัง หันไปใช้นักแสดงหน้าใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก เป็นหนังรักธรรมดาๆ ไม่ใช่หนังบู๊ หรือหนังดราม่าเคล้าน้ำตา ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคนั้น แต่กลับประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลทำรายได้กว่าล้านบาท ทั้งที่ใช้ทุนสร้างเพียงไม่กี่แสน หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า “วัยอลวน”
 หนังได้สร้างตัวละคร ‘ตั้ม-โอ๋’ ให้ปรากฏบนโลกภาพยนตร์ แจ้งเกิดให้แก่สองนักแสดง ไพโรจน์ สังวริบุตรและ ลลนา สุลาวัลย์ พร้อมกับมีการสร้างภาคต่อตามมาในอีกหลายปีให้หลัง ในชื่อ “รักอุดตลุด” (2520), “ชื่นชุลมุน” (2521) และ “วัยอลวน 4 ตั้ม-โอ๋ รีเทิร์น” เมื่อ 5 ปีก่อน
 ข้ามมาปี พ.ศ.2535 ถ้าหลายคนยังจำกันได้ เป็นปีที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อขบวนการนิสิตนักศึกษาประชาชน ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนนจนถูกล้อมปราบเลือดนองแผ่นดิน โดยรัฐบาลเผด็จการทหาร(อำพราง) ปีนี้ เป็นปีที่บ้านเราเป็นเจ้าภาพจัดประกวดนางงามจักรวาลปีแรก
 ปี 2535 ธุรกิจบันเทิงเจ๊งระเนระนาด ทว่าวงการหนังไทยกลับเอาตัวรอดไปได้ ปีนี้มีหนังไทยเข้าฉายเฉียดๆ 100 เรื่อง เป็นปีที่หนังวัยรุ่นยังครองความนิยมอย่างต่อเนื่อง หนังที่ทำรายได้สูงสุดประจำปีก็คือ “รองต๊ะ แล่บแปล๊บ” และ “อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป” หนังน้ำดีที่กวาดไปทั้งเงินและกล่อง กับรายรับร่วม 25 ล้านบาท ที่ถือว่ามากสมควรสำหรับยุคสมัยนั้น
 ถ้าหลายคนคิดว่าปัญหาการเมืองและความวุ่นวายไม่สงบภายในประเทศ จะไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจหนังซบเซาเท่าไรนัก แต่ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี พ.ศ.2540 ธุรกิจมากมายในประเทศต้องล่มสลาย ทว่าในปีนี้เอง กลับมีคนทำหนังหน้าใหม่เข้ามาสร้างสีสันให้แก่วงการหนังไทย และมีส่วนในการพัฒนาหนังไทยไปสู่ระดับสากลจนถึงทุกวันนี้...
 ปี 2540 หนังเรื่อง “2499 อันธพาลครองเมือง” ได้ยกระดับหนังไทยทั้งในเรื่องงานสร้างที่ประณีต คู่ขนานไปพร้อมกับเนื้อหาและวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่ หนังประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งเรื่องของรายได้และเสียงชื่นชม ทำให้คนทำหนังโฆษณาตบเท้าเข้าสู่วงการหนังไทยอีกมากมาย เริ่มจาก นนทรีย์ นิมิบุตร ตามด้วย เป็นเอก รัตนเรือง, วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง และจิระ มะลิกุล  
 ปี พ.ศ.2541 เศรษฐกิจยังทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่ปีนี้หนังไทยกลับสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการมีหนังทำเงินสูงถึงหลักร้อยล้านบาทเป็นครั้งแรก และยังกวาดรางวัลมากมายหลายสถาบันในเมืองไทยเป็นว่าเล่น หนังเรื่องนี้ก็คือ “นางนาก” สถิติแรกของวงการหนังไทยที่หนังทำไว้คือ รายได้ร่วม 105 ล้านบาท ส่งผลให้ชื่อของ นนทรีย์ นิมิบุตร ติดอยู่ในผู้กำกับระดับ A List ที่คนไทยและต่างประเทศรู้จัก
 10 กว่าปีให้หลัง หนังไทยยังไม่เจอกับภาวะวิกฤติใดๆ สักเท่าไรนัก ปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมาก็อยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ หรือช่วงที่ตกอยู่ในสถานการณ์รุนแรงสงกรานต์เลือดเมื่อปีที่แล้ว ก็เป็นช่วงเวลาที่วงการหนังไทยยังไม่มีหน้าหนังที่แข็งแรง ซึ่งตัวหนังเองถ้าเข้าฉายในช่วงเวลาอื่นก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน
 แต่สำหรับช่วงเวลาปลายเดือนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ หนังที่มีจุดขายแข็งแรงตัวหนังวิ่งมาทางตลาดจ๋าๆ ก็ล้วนเจอพิษภัยทางการเมืองเข้าไปเต็มๆ ตั้งแต่ “บางระจัน 2”, “สาระแนสิบล้อ” หรือหนังต่างประเทศที่กระแสดีตั้งแต่ในอเมริกาอย่าง “Green Zone” และ “Clash of the Titans” ก็สามารถฝ่าความร้อนระอุของการเมืองไทย จูงใจคนให้ออกจากบ้านมาดูหนังได้ ไม่นับการปิดห้างสรรพสินค้าใหญ่กลางใจเมืองเพื่อหนีม็อบ ซึ่งทำให้โรงหนังหายไปอีกนับสิบโรง
 ไม่อยากนึกเลยนะครับ สถานการณ์หนังไทยหลายเรื่องที่ลงโรงฉายในเวลานี้จะประสบชะตากรรมเช่นไร ในขณะที่หนังบางเรื่องอย่าง “คนไท ทิ้งแผ่นดิน” ต้องเลื่อนโปรแกรมฉายออกไปไม่มีกำหนด
 ความเชื่อส่วนตัวที่ว่า ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะวุ่นวายแค่ไหน วงการหนังไทยยังคงเอาตัวรอดได้เสมอ เห็นทีจะไม่เป็นความจริงซะแล้วล่ะครับ ตอนนี้!
"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive